วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

หมูแพง

ผ่าวงจรอุบาทว์ "หมูแพง" ถึงเวลาบูรณาการปัญหาครบวงจร [25 ก.พ. 51 - 21:52] วันนี้ ผู้บริโภคคงได้แต่สงสัยว่า ทำไมราคาเนื้อหมูจึงขยับขึ้นอย่างมาก ากปีก่อน ราคาขายถูกอย่างเหลือเชื่อเพียงกิโลกรัม (
กก.) ละกว่า 30 บาท หรือ 3 กก.ละ 100 บาท
แต่พอมาปีนี้ราคากลับพุ่งขึ้นไปถึง กก.ละ 120 บาท!! เกิดอะไรขึ้นกับราคาหมูของไทย
สาเหตุมาจากเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ราคาหมูตกต่ำมาก ส่งผลให้เกษตรกรขาดทุนอย่างหนัก จึงแก้ปัญหาด้วยการตัดตอนลูก
หมูไปฆ่าทิ้งหลายแสนตัว ประกอบกับเมื่อถึงปลายปี เกิดโรคท้องร่วงระบาด ทำให้หมูตายเกือบ 800,000 ตัว จนเกิดภาวะ
ขาดแคลน อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ขณะเดียวกัน ราคาวัตถุดิบที่ผลิตอาหารหมูปรับเพิ่มขึ้นมาก และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่องในอนาคต เพราะนำไป
ผลิตพลังงานทดแทน เช่น ข้าวโพด จาก กก.ละ 5 บาท เพิ่มเป็น 9 บาท มันสำปะหลังจาก กก.ละ 2.50 บาท เป็น 6 บาท
ต้นทุนการเลี้ยงก็ยิ่งปรับขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง
นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ระบุว่า ปีก่อนต้นทุน การผลิตหมูมีชีวิต 100 กก.อยู่ที่ กก.ละ 40 บาท
แต่ราคาขายเฉลี่ยทั้งปีแค่ กก.ละ 38 บาทกว่า ผู้เลี้ยงรายย่อยขาดทุนมานานเกือบ 14 เดือน จนต้องเลิกเลี้ยง รายใหญ่ที่
พอจะ อยู่ได้ก็ลดกำลังการผลิตลงมาก จนผลผลิตเหลือน้อย ช่วงนี้ราคาจึงขยับขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริง ไม่ได้ฉวยโอกาสแต่
อย่างใด
จากสาเหตุดังกล่าว ทำให้ราคาขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มขยับขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยเดือน มิ.ย.50 กก.ละ 41.07 บาท ขยับ
เป็น 45 บาท ในเดือน ธ.ค.50 และเป็น 60 บาท ในเดือน ก.พ.51
เมื่อราคาหมูมีชีวิตเพิ่มขึ้น ราคาหมูชำแหละ (หมูซีก) และราคาเนื้อหมูหน้าเขียง ก็ต้องขยับขึ้นตาม แต่คนที่รับเคราะห์มากที่
สุดหนีไม่พ้นผู้บริโภค เพราะราคาเนื้อหมูหน้าเขียง แพงที่สุดในประวัติการณ์ จากเดือน มิ.ย. กก.ละ 83.05 บาท ขยับเป็น 90
บาท ในเดือน ธ.ค. และ 120 บาท ในเดือน ก.พ.51
จากการชำแหละราคาของ “ทีมเศรษฐกิจ” พบว่า ผู้ประกอบการหมูทั้งระบบ ทั้งผู้เลี้ยง โรงชำแหละ และหน้าเขียง ยังคงมี
กำไรเป็นกอบเป็นกำ โดยผู้เลี้ยง รายกลางและใหญ่ ยกเว้นเกษตรกรรายย่อย มีกำไร กก.ละ 7-8 บาท โรงชำแหละ มีกำไร
กก.ละ 4-5 บาท แต่ผู้ค้าหน้าเขียงมีกำไรมากที่สุดถึง กก.ละ 50-60 บาท
กระทรวงพาณิชย์ จึงพยายามสร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ด้วยการให้ปรับลดราคาลง โดยหมูมีชีวิตต้องไม่เกิน กก.ละ 58
บาท และเนื้อหมูหน้าเขียงไม่เกิน กก.ละ 98 บาท ซึ่งผู้เลี้ยงยังมีกำไร กก.ละ 7 บาท โรงชำแหละ กก.ละ 2-3 บาท และ
หน้าเขียง กก.ละ 32 บาท
แต่จะได้หรือไม่นั้น จับตาการประชุมของ รมว.พาณิชย์ และผู้ประกอบการหมูทั้งระบบสัปดาห์นี้
“หากผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ไม่ยอมลดราคาลง ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากกลุ่มสหกรณ์ต่างๆ เป็นผู้นำในการลดราคา แม้จะเป็น
สัดส่วนน้อย แต่ก็น่าจะทำให้ราคาหมูลดลงมาได้ระดับหนึ่ง นอกจากนี้ จะส่งเสริมให้มีการเลี้ยงมากขึ้น และไม่ต้องห่วงเรื่อง
ผลผลิตล้นตลาด เพราะจะสนับสนุนให้ส่งออก มาตรการเหล่านี้จะทำให้ราคาหมูปรับลดลงมาได้” นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์
รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าว
ขณะที่สถานการณ์ราคาหมูไม่สามารถลดลงได้ในเวลาอันสั้น และผู้เลี้ยงรายย่อย คงจะกลับมาเลี้ยงรอบใหม่ได้ยาก เพราะ
ไม่สามารถแบกรับต้นทุนค่าอาหารที่แพงขึ้นได้ การแก้ปัญหาควรเดินไปในทางใด
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้เสนอแนวทางให้ผู้เลี้ยงรายย่อยฟื้นกลับมาเลี้ยง
หมูได้ใหม่ว่า เป็นหน้าที่ ของกรมปศุสัตว์จะต้องคิดค้นหาสูตรอาหารหมู ที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นมาเป็นส่วนผสม เพื่อลดต้นทุน
เป็นสูตรแนะนำให้เกษตรกรนำไปใช้
รวมทั้งอาจจะส่งเสริมให้เลี้ยงหมูในครัวเรือนในลักษณะเดียวกับการเลี้ยงไก่พื้นเมือง ซึ่งเป็นที่นิยม ถึงขั้นมีเมนูต้มยำไก่บ้าน
ทำให้เกษตรกรรายย่อยขายไก่ ได้ราคาดีกว่าไก่เนื้อที่เลี้ยงในฟาร์ม สำหรับหมูอาจจะทำในลักษณะเดียวกันได้ แต่ต้องเป็น
การเลี้ยงที่ถูกสุขลักษณะ จะช่วยเพิ่มราคาให้หมูได้มากขึ้นเช่นกัน
สำหรับผู้เลี้ยงหมูขนาดกลาง ควรตั้งกลุ่มขึ้นมาเจรจาซื้ออาหารสัตว์ในราคาพิเศษเพื่อลดต้นทุน และธนาคารเพื่อการเกษตร
และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้การสนับสนุนสินเชื่อ เป็นเงินทุนหมุนเวียน ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ค่อนข้างได้เปรียบ
เพราะทำแบบครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตพืชวัตถุดิบ การผสมทำอาหารสัตว์สำเร็จรูปส่วนหนึ่งนำไปจำหน่าย อีกส่วนนำ
ไปใช้เอง จึงลดต้นทุนได้มาก
เลขาธิการ สศก.ยังชี้ให้เห็นถึงจุดอันตรายว่า ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่แพงขึ้นสะท้อน ให้เห็นปัญหาการแย่งชิงวัตถุดิบกัน
ระหว่างฝ่ายที่นำพืชไปผลิตพลังงาน และฝ่ายที่จะนำไปผลิตอาหารของคนและสัตว์
หากปล่อยทิ้งไว้ยิ่งน้ำมันมีราคาแพง พืชพลังงานยิ่งแพงขึ้นเกินจริง ช่องว่างระหว่างต้นทุนและกำไรจะยิ่งมากขึ้น ผู้บริโภคจะ
เดือดร้อน จนรับกับราคาไม่ได้ ในที่สุดปัญหาจะลุกลามหนักขึ้นเรื่อยๆ การวางแผนรับมือตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ
“เกษตรฯ พาณิชย์ และพลังงาน จะต้องหารือกำหนดนโยบายที่ชัดเจนก่อนว่า ด้านพลังงานต้องการใช้วัตถุดิบเท่าใดจึง
เพียงพอ ที่เหลือมีใช้สำหรับบริโภคเท่าไร เพื่อที่กระทรวงเกษตรฯจะได้วางแผนขยายการผลิตวัตถุดิบป้อนในปริมาณที่
เหมาะสมได้ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จะต้องเข้ามาดูแลราคาให้ตลาดมีเสถียรภาพ ไม่ให้ราคาถูกจนผู้ผลิตอยู่ไม่ได้ แต่ก็
ต้องไม่แพงเกินเหตุจน ผู้บริโภคเดือดร้อน”
หลังจากนั้นมาถึงขั้นตอนการผลิตให้ได้ปริมาณตามต้องการ ซึ่งควรจะมีการจัดแบ่งโควตา ว่าพืชแต่ละชนิดควรจะผลิตใน
ปริมาณเท่าใด มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือคอน-แทร็คฟาร์มมิ่ง กำหนดราคารับประกันขั้นต่ำให้ด้วยเพื่อจูงใจและ
เป็นหลักประกันให้เกษตรกร
ท้ายที่สุด ระบบการผลิตแบบแบ่งเขตพื้นที่ หรือโซนนิ่ง ต้องถูกนำมาใช้ เพื่อให้การเพาะปลูกพืช มีความเหมาะสมกับสภาพ
พื้นที่ ทั้งสภาพดิน ปริมาณน้ำ สภาพภูมิอากาศ ความถนัด ของเกษตรกร ระบบโลจิสติกส์ เพื่อให้ได้ผลผลิตคุ้มค่ากับการลง
ทุน ในส่วนนี้กระทรวงเกษตรฯ มีข้อมูลอยู่แล้วว่าแต่ละพื้นที่ควรปลูกพืชชนิดใดที่เหมาะสม ขาดเพียงแค่การผลักดัน จาก
รัฐบาลอย่างจริงจังเท่านั้น

“การเกษตรในอนาคตต้องเป็นการเกษตรสมัยใหม่ มีการจัดระบบที่ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยไปตามยถากรรมเหมือนที่ผ่านมา ที่
พอปีใดพืชบางชนิดมีราคาดีก็แห่ปลูกกัน จนผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำ ประสบภาวะขาดทุนซ้ำซาก มีปัญหาเป็นหนี้เป็นสิน
ตามมา แต่พอปีใดพืชชนิดนั้นราคาถูกก็เลิกปลูกกันไปจนปีต่อมาสินค้าขาดตลาด ราคาสูงเกินจริง วนเวียนเป็นวัฏจักรอยู่เช่น
นี้”
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแนวคิดของการแก้ปัญหาตามแนวทางของ สศก. จะเป็นแนวทางที่น่าสนใจ
แต่การหาคำตอบที่เบ็ดเสร็จในการสร้างเสถียรภาพของเนื้อหมู ทั้งในด้านราคา และปริมาณ ยังเป็นพันธกิจที่รัฐบาลต้อง
บูรณาการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ
เพราะนโยบายของพาณิชย์ และเกษตรฯ ในขณะนี้ยังไม่ สามารถสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้จริง!!
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้สูตรคำนวณราคาหมูที่ “ทีมเศรษฐกิจ” ได้ชำแหละออกมา แสดงให้เห็นว่า คนไทยถูกขูดรีดจน
เลือดซิบๆ จากการบริโภคหมูแพง โดยไม่มีความจำเป็นมายาวนานเป็นสิบๆปี เพราะจากราคาหมูหน้าฟาร์ม ผ่านโรงเชือด
โรงชำแหละ มาจนถึงเขียงหมู ทุกฝ่ายมีกำไรกันเป็นทอดๆ
ขณะที่ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยกลับอยู่ในสภาวะยากลำบาก บางรายทนต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ไหว ต้องล้มหายตายจากไปมากกว่า
30% ของผู้เลี้ยงทั้งหมด เพราะราคาที่เพิ่มสูงขึ้นมากตกถึงเกษตรกรเพียงส่วนน้อย
เพราะตามสูตรราคาขายปลีกเดิม ที่นำราคาหมูเป็นหน้าฟาร์ม กก.ละ 60 บาท มาบวกเพิ่มให้อีกเท่าตัว หรือ 100% และ
บวกกำไรเพิ่มอีก 2 บาทนั้น เขียงหมูมีกำไรสูงถึง 102% หรือกว่า กก.ละ 60 บาท และแม้กระทั่งสูตรใหม่ที่กระทรวง
พาณิชย์ พยายามที่จะลดราคาจาก กก.ละ 120 บาทลงแล้ว แต่สุดท้ายราคาขายปลีกหมูที่ กก.ละ 98 บาท ซึ่งมาจากราคา
หมูหน้าฟาร์ม กก.ละ 60 บาท บวกด้วย 80% หรือลดลง 20% จากราคาที่เคยบวกให้เท่าตัว หรือเท่ากับ 48 บาท จาก
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์เอง ยังพบว่า เขียงหมูยังฟันกำไรเหนาะๆ ถึง กก.ละ 32 บาท หรือมีกำไร 67%
ขณะเดียวกัน ข้ออ้างที่กลุ่มผู้ค้าหมู ชี้แจงว่า กำไรที่ได้รับนั้น มาจากความเสียหาย ที่เกิดขึ้นในช่วงการชำแหละ เพราะจาก
หมูเป็น 100 กก. ชำแหละแล้วจะเหลือเนื้อแดงเพียง กก.ละ 47 เท่านั้น ก็เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นสำหรับประเทศไทย เพราะ
คนไทยกินหมู ตั้งแต่หัวตลอดตัว เครื่องใน เลือด ไม่เว้นจนกระทั่งถึงหาง ต่างจากฝรั่งมังค่าที่กินเฉพาะเนื้อแดง อย่างอื่น
ทิ้งหมด
พิจารณาตามนี้แล้ว ราคาที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่ายอยู่ตรงไหน กรมการค้าภายในคงต้องหาคำตอบอีกครั้ง!!
แต่ก่อนจะถึงขั้นตอนการตั้งราคา การตรวจสอบปริมาณผลผลิตที่จะออกมา รวมถึงความต้องการซื้อในแต่ละช่วง เป็นเรื่องที่
สำคัญไม่แพ้กัน เพื่อให้รัฐบาลสามารถวางแผนในการดูแลราคาหมูอย่างเป็นระบบ
เรื่องนี้เป็นหน้าที่โดยตรงของทั้งกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ แต่ช่วงที่ผ่านมา กลับไม่ได้รับความใส่ใจเท่าที่ควร
เห็นแต่ความพยายามที่จะโทษกันไปมา ไม่ว่าจะเกิดปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ หรือขาดแคลน ส่งผลให้วงจรอุบาทว์ยัง
คงวนเวียนอยู่ในภาคเกษตรของประเทศต่อไป
หนทางที่จะตัดทิ้งวงจรอุบาทว์นี้ คือ การรักษาปริมาณ และราคาหมูให้มีเสถียรภาพ กระทรวงเกษตรฯต้องให้ข้อมูลกับ
เกษตรกรว่า ปีนี้ควรจะเลี้ยงหมูจำนวนมากหรือน้อยแค่ไหน ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ราคาหมูแพง กระทรวงพาณิชย์อาจจะ
ต้องซื้อหมูแพงมาขายถูก เพื่อแทรกแซงราคา และในช่วงหมูถูก อาจจะจำเป็นต้องมีการประกัน หรือพยุงราคา เพื่อให้
เกษตรกรผู้เลี้ยงอยู่ได้ ขณะที่ผู้บริโภคก็อยู่ไหวเช่นกัน
ในช่วงที่สถานการณ์โลกร้อนกำลังทวีความรุนแรง ส่งผลต่อภูมิอากาศทั่วโลก ขณะที่ราคาพลังงานมีแนวโน้มพุ่งขึ้นอย่างต่อ
เนื่อง ความต้องการพลังงานทดแทนที่เพิ่มมากขึ้น ยิ่งจะเร่งให้สถานการณ์การแย่งชิงพืชที่เป็นพลังงานทดแทน และอาหาร
สัตว์ ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปด้วย
ในฐานะประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอาหาร เป็นครัวของโลก ควรที่จะเตรียมพร้อมที่จะรับมือ สถานการณ์ที่อาจจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันฉวยโอกาสนี้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ
“หมู” ควรเป็นกรณีศึกษาเพื่อปรับโครงสร้างการดูแลสินค้าเกษตรทั้งระบบ สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น รวมทั้ง ขจัดวงจร
อุบาทว์ที่เป็นต้นเหตุ ความจนซ้ำซากของเกษตรกร.
นางสงวน คงเรือง แม่ค้าขายหมูตลาดบางซื่อ เล่าว่า ขายหมูมา 10 กว่าปี ช่วงนี้เป็นช่วงที่หมูราคาแพงมากที่สุดที่เคยเจอมา
รับหมูผ่าซีกมาในราคา กก.ละ 72 บาท วันละ 4 ซีก หรือประมาณ 200 กก. มาชำแหละขายแยกเป็นเนื้อสัน กก.ละ 120
บาท, เนื้อสะโพก กก.ละ 110 บาท, หมูสามชั้น กก.ละ 110 บาท, ซี่โครงหมู กก.ละ 100 บาท, ตับ กก.ละ 110 บาท, หมู
บดเกรดดี กก.ละ 110 บาท, หมูบดเกรดรอง กก.ละ 90 บาท, เครื่องในประเภทหัวใจ ไส้อ่อน กก.ละ 100 บาท, ไส้ใหญ่
กก.ละ 40 บาท, หนังหมู กก.ละ 40 บาท น้ำมันหมู กก.ละ 45 บาท, ขาหมู กก.ละ 55 บาท และหัวหมู กก.ละ 35 บาท
จะเห็นว่าประเภทหมูที่ขายมีทั้งที่ราคาสูงกว่าราคาหมูผ่าซีก แต่ยังมีอีกหลายรายการที่ราคาต่ำกว่า เฉลี่ยแล้วช่วงนี้แทบไม่
มีกำไรเลย
“ช่วงนี้ในแต่ละวันขายแล้วได้กำไรไม่พอกับรายจ่ายค่าลูกจ้างชำแหละ และค่าแผง รวมแล้วกว่าวันละ 400-500 บาท แต่ที่
อยู่ได้เพราะมีทุนเก็บไว้พอสมควร ก่อนหน้านี้ที่หมูมีราคาถูกมานาน จึงได้แต่หวังว่าราคาหมูจะปรับลงอีกไม่นาน หากยัง
แพงยาวไปเป็นปีคงอยู่ไม่ได้ เพราะทุกวันนี้ต้องชักทุนเก่ามาสำรองตลอด”
นางสงวนยังเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคให้ฟังด้วยว่า ตั้งแต่หมูปรับราคาขึ้นไป ลูกค้าจะลดปริมาณซื้อหมู
ลงมาก เช่น แม่ค้าทำกับข้าวขาย เคยมาซื้อหมูวันละ 5 กก. ปัจจุบันก็หันไปซื้อไก่ทดแทน 2 กก. ซื้อหมูแค่ 3 กก. เป็นต้น
ขณะที่ผู้บริโภคทั่วไปที่ซื้อหมูไปทำอาหารรับประทานเองจากที่เคยซื้อ 1 กก.ก็ลดลงเหลือครึ่ง กก. หันไปซื้อไก่ หรือปลา
ทดแทนเหมือนกัน
นายเสงี่ยม สุทัศน์ ณ อยุธยา เจ้าของร้าน “เสงี่ยมคอหมูย่าง” ตลาด อ.ต.ก. กล่าวว่า ราคาหมูแพงขึ้นอย่างน่าตกใจจาก
เมื่อช่วงก่อนปีใหม่เคยซื้อคอหมูในราคา กก.ละ 100 บาท ตอนนี้ปรับราคาเป็น กก.ละ 130 บาทแล้ว
ขณะที่หมู 3 ชั้นเคยซื้อ กก.ละ 90 บาท ปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น กก.ละ 115 บาท ทุกรายการแพงขึ้นหมด เขียงหมูบอกว่า
สาเหตุที่หมูแพงก็เพราะหมูขาดตลาด จึงใจชื้นขึ้นมาบ้าง ราคาขณะนี้เป็นราคาสูงสุดแล้ว จะทรงตัวไปอีกระยะหนึ่ง ทุกวันนี้
ผู้บริโภคที่เป็นขาประจำก็บ่นกันมากว่าทำไมราคาแพงจัง แถมยังลดปริมาณการซื้อลงจากเดิมเคยซื้อครั้งหนึ่ง 200 บาท ก็
ลดมาซื้อแค่ 100 บาทเท่านั้น
เมื่อต้นทุนที่ซื้อมาแพงขึ้นในฐานะที่เป็นพ่อค้าก็ต้องกระจายภาระไปให้ผู้บริโภค รับช่วงต่ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่เช่นนั้นก็
อยู่ไม่ได้เช่นกัน เพราะนอกจากขายคอหมูย่างแล้ว ยังขายหมูทอด และหมูกรอบอีก ซึ่งต้องใช้น้ำมันมาทอด ส่วนนี้ต้นทุนก็
ปรับสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะน้ำมันจากปี๊บละ 400 บาท เพิ่มเป็นปี๊บละ 680 บาทแล้ว
จากต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น พร้อมกันจากหลายด้าน ไม่ เฉพาะราคาหมูเท่านั้น ทางร้านจึงมีความจำเป็นต้องปรับราคาขึ้นตาม จาก
เดิมปกติเคยขายคอหมูย่างขีดละ 40 บาท ก็ต้องเพิ่มเป็นขีดละ 45 บาท ทุกรายการที่ขายจะบวกเพิ่มขึ้นขีดละ 5 บาท กก.
ก็ตก 50 บาท แต่หากราคาหมูลง นายเสงี่ยม บอกว่าเขาก็พร้อมที่จะปรับลดราคาจำหน่ายลงเช่นกัน
“โธ่พี่! ไม่มีพ่อค้า แม่ค้าที่ไหนอยากขายของแพงหรอกครับ เพราะมันขายยาก ยิ่งราคาสูงขึ้นผู้บริโภคก็ยิ่งลดปริมาณการซื้อ
ลง ขายของถูกจะได้ปริมาณเยอะกว่า มีรายได้และขายคล่องมากกว่า มีกำลังใจขายมากกว่ากันเยอะครับพี่ แบบนี้มันห่อเหี่ยว
บอกราคาทีลูกค้าสีหน้าเปลี่ยนเราก็ใจเสียนะ”
นายชาญ ทองอ่อน พ่อค้าหมูหน้าวัดรังสิต จังหวัดปทุมธานี ซึ่งยึดอาชีพขายหมูมา 5 ปีแล้ว บอกว่า เพิ่งเห็นราคาหมูแพงสุด
กก.ละ 120 บาทในปีนี้ รับจากพ่อค้าส่ง กก.ละ 100-105 บาท มีกำไร กก.ละ 10-15 บาทเท่านั้น ถามพ่อค้าส่งที่ไปรับมา
ก็บอกว่า เกิดจากหมูขาดแคลน ส่งไปขายต่างประเทศหมด โดยเฉพาะจีนและเพื่อนบ้าน ที่เผชิญภาวะหมูขาดแคลนเช่นกัน
นอกจากนี้ ราคาหมูที่แพงขึ้นเกิดจากต้นทุนราคาน้ำมัน ราคาอาหารหมู ค่าจ้างแรงงานในการขนย้ายและการชำแหละที่ปรับ
ขึ้นทุกอย่าง จึงส่งผลให้ต้นทุนต่างๆไปบวกรวมในราคาหมูทั้งหมด
“ผมไม่รู้ว่าการคิดคำนวณราคาต้นทุนที่แท้จริงจากหน้าฟาร์มมาถึงเขียงหมู จนถึงผู้บริโภคคิดกันอย่างไร ได้ยินว่ากระทรวง
พาณิชย์จะเข้ามาแก้ปัญหา แต่ไม่เห็นมีมาตรการใดออกมา ภาระราคาหมูแพงจึงตกอยู่กับผู้บริโภค”
นายชาญเล่าต่อว่า เท่าที่ทราบเดี๋ยวนี้ผู้ค้ารายย่อยบางรายเป็นผู้ทำธุรกิจหมูครบวงจรเอง ทั้งไปรับซื้อหมูเป็นที่หน้าฟาร์ม
แล้วจ้างชำแหละ ส่งขายตามหน้าเขียง หรือบางรายขายปลีกเอง ทำกันเยอะมาก แต่เท่าที่ทราบผู้ค้าก็บ่นว่าขาดทุน ก็เลย
ไม่รู้ว่าคิดคำนวณกำไร-ขาดทุน กันอย่างไร แต่พอมาถึงพ่อค้ารายย่อยอย่างผม ราคาหมูก็ปาเข้าไป กก.ละ 100-105 บาท
แล้ว
“ผมว่ายิ่งเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน ปัญหาหมูขาดแคลนและราคาหมูแพงจะต้องเกิดขึ้นอีกแน่นอน เนื่องจากหมูจะโตช้ากว่าปกติ
บอกตรงๆ เคยขายหมูวันละกว่า 100 กก. ตอนนี้ปรับลดลงบ้างแล้วเพราะลูกค้าส่วนใหญ่หันไปซื้อสินค้าอื่นแทน เคยขาย
กำไรวันละ 600-700 บาท ตอนนี้แค่ 500 บาทก็แย่แล้ว”
นางวารี แก้วใจ แม่ค้าหมูตลาดดอนเมือง บอกว่า ตลาดนี้ขายหมูถูกกว่าตลาดอื่นเยอะ เพราะมีร้านค้าหลายร้าน ต้องแข่งกัน
ด้วยราคาเพื่อความอยู่รอด ไม่เช่นนั้นขายไม่ได้ ขณะนี้ขาย กก.ละ 110-115 บาท เพราะรับมาจากโรงชำแหละ กก.ละ 98
บาท ราคาเนื้อสันในและ กระดูกหมูอ่อนจะขายราคาเท่ากันคือ 110-115 บาท ขณะที่ตลาดอื่นขาย กก.ละ 120 บาท เอา
กำไรนิดหน่อยเท่านั้น
เพราะกว่าหมูจะมาถึงมือผู้บริโภค ต้องผ่านขั้นตอนถึง 3 ขั้น ทั้งราคาขายหน้าฟาร์ม โรงชำแหละ เขียงหมู จนกระทั่งถึงร้าน
ค้าย่อย ไม่รู้ว่าผู้ค้าได้กำไรแต่ละขั้นตอน กก.ละเท่าใด มีหน้าที่ขายก็ขายไปและจนถึงขณะนี้ก็ไม่รู้ว่าต้นตอราคาหมู
“กำไรลดลงเยอะตั้งแต่หมูราคาแพงขึ้น ไหนต้องมาตัดแต่งเนื้อหมู เอามันออกให้น่าซื้อ ทำให้น้ำหนัก กก.หมูลดลงตามไป
ด้วย ขณะที่คนซื้อลดปริมาณลง บางครั้งมาซื้อหมูบดแค่ 10-20 บาทก็ต้องขาย นอกจากนี้ ต้นทุนของร้านก็เพิ่มขึ้น
จากราคาค่าเช่าแผงต่อวันอีก 1,080 บาท ทำให้รู้สึกท้อแท้ กว่าจะขายหมูหมดในแต่ละวันเดี๋ยวนี้ลากยาวไปถึงบ่าย จาก
เดิมแค่ช่วงเช้า-สายก็หมดแล้ว”
ขณะที่ร้านอาหารตามสั่งหรือร้านก๋วยเตี๋ยวที่เคยซื้อหมูนำไปใช้ในแต่ละวันเดี๋ยวนี้ ก็ซื้อในปริมาณลดลงมาก คือเมื่อลูกค้าสั่ง
อาหารที่เป็นหมู เจ้าของร้านก็จะหยิบหมูเพียง 23 ชิ้นต่อจานหรือไม่ก็ไปปรับขึ้นราคาอาหาร ตามสั่งที่เป็นหมูแทน เป็นต้น.

ไม่มีความคิดเห็น: